เปิดบริการอย่างเป็นทางการการ์ดเกมส์ฝีมือคนไทย Commandeer Armament เวอร์ชั่น PC กราฟิกแจ่ม ระบบการเล่นแปลกใหม่ มันส์ได้แล้ววันนี้

 

สานต่อความมันส์จากการ์ดเกมส์ในโลกจริง Commandeer TCG สู่เกมส์การ์ดในระบบดิจิตอล โดยตัวเกมส์เปิดให้บริการในเวอร์ชั่นของ PC ในชื่อ Commandeer Armament เป็นเวอร์ชั่นแรก ส่วนในอนาคตจะมีการเปิดให้บริการในเวอร์ชั่นมือถือทั้งระบบ iOS และ Android ให้เราได้เล่นกันด้วย ซึ่งตัวเกมส์นั้นจัดได้ว่ามีกราฟิกที่สวยงามไม่น้อยหน้าเกมส์ไหนในตลาดตอนนี้ แต่ที่ทำให้เกมส์นี้น่าสนใจที่สุดคือระบบการเล่น ที่แปลกใหม่ด้วยการผสมผสานระหว่างการ์ดเกมส์ และ บอร์ดเกมส์ ได้อย่างน่าสนใจ ใครอยากลองมาทำความรู้จักกับเกมส์นี้ให้มากขึ้นกันเลย

 

สำหรับการ์ดในเกมส์ Commandeer Armament นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ Unit และ Event โดยการ์ดจะมีรายละเอียดดังนี้

1. Unit เป็นตัวแทนของทหารในการปกครองของเรา มีหน้าที่ลงสนามรบไปจัดการกับทหารของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม การเรียกการ์ดยูนิตลงมาบนสนามจำเป็นต้องเสียทรัพยากรคือ Command Point ซึ่งค่าร่ายจะอยู่ที่มุมบนซ้าย ซึ่งบางยูนิตสามารถใช้ทรัพยากรอื่นนั่นคือ Energy ได้ด้วยเช่นกัน ที่ขอบของการ์ดทั้ง 4 ด้านจะมีลูกศรซึ่งนั่นคือทิศทางการโจมตีของยูนิตใบนั้น โดยแต่ละยูนิตก็มีทิศทางที่แตกต่างกันไป มุมล่างด้านซ้ายจะเป็นพลังโจมตีของยูนิตตัวนั้น ส่วนด้านล่างขวาจะเป็นพลังชีวิตของยูนิตใบนั้นซึ่งเมื่อค่านี้หมดลงยูนิตใบนั้นจะต้องออกจากสนามไป นอกจากนั้นการ์ดแต่ละใบจะมีสังกัดประเทศซึ่งในแต่ละ Deck จะต้องใช้ยูนิตที่อยู่ในสังกัด หรือ Faction เดียวกันเท่านั้น

2. Event เป็นการ์ดที่ไม่ใช่การ์ดยูนิต ถ้าเทียบกับเกมส์อื่นก็อาจเรียกว่าเป็น การ์ดเวทย์มนต์ และ การ์ดสวมใส่ ซึ่งการ์ด Event นี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ Planning Event (สัญลักษณ์โล่สีฟ้า) และ Defensive Event (สัญลักษณ์โล่สีเหลือง) โดยการแบ่งการ์ด Event จะแบ่งตามเฟสที่สามารถใช้การ์ดใบนั้นได้ การใช้การ์ด Event เองก็ต้องเสียทรัพยากรเช่นเดียวกับยูนิตซึ่งเราดูได้จากมุมบนซ้ายเช่นเดียวกับการ์ดยูนิต ซึ่งการ์ด Event เองก็มีสังกัดเช่นเดียวกับการ์ดยูนิตด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนตรงที่เป็นตัวหนังสือเยอะๆ ก็จะเป็นส่วนของความสามารถของการ์ดใบนั้นนั่นเอง
ระบบการเล่นเบื้องต้น

การจัด Deck เราจะต้องใช้การ์ดทุกใบในสำรับเพียง Faction เดียวเท่านั้น แต่ก็มีการ์ดบางใบที่เป็นการ์ดไร้สังกัดซึ่งการ์ดเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมได้กับทุกสังกัด โดยเราจะต้องมีการ์ดใน Deck อย่างน้อย 50 ใบ แต่ไม่จำกัดจำนวนสูงสุดของการ์ด นอกจากนั้นการ์ดที่มีชื่อเดียวกันไม่สามารถใส่ได้เกิน 4 ใบ หากต้องการจะสร้าง Deck เราจำเป็นจะต้องมีการ์ด Commander ที่เราจะต้องเลือกเป็นอย่างแรกในการสร้าง Deck

 

เฟสการเล่น ในแต่ละเทิร์นนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 เฟสด้วยกันดังนี้

 

1. Planning Phase ในเฟสนี้จะเป็นขั้นตอนของการเตรียมการรบ ซึ่งเราจะสามารถจั่วการ์ด เคลื่อนที่ยูนิต เรียกยูนิตลงสู้สนาม ใช้การ์ด Planning Event โดยเมื่อเข้าสู่ช่วง Planning Phase เราจะได้รับค่า Command Point มา 3 CP แต่ในเทิร์นแรกของผู้เล่นคนแรกในเกมส์นั้นจะได้เพียง 2 CP เท่านั้น ซึ่ง CP นี้เราจะสามารถนำมาเรียก Unit ร่าย Event โดยจะต้องเสียค่า CP ตามที่การ์ดนั้นระบุเอาไว้ นอกจากนั้นเรายังสามารถนำ CP มาใช้สำหรับเคลื่อนที่ Unit โดยตำแหน่งที่ยูนิตจะเคลื่อนที่ไปจะต้องติดกับการ์ดยูนิตใบอื่น 1 ใบจึงจะสามารถเคลื่อนที่ไปได้ หรือจะขอจั่วการ์ดด้วย Reinforce ซึ่งเมื่อจั่วการ์ดด้วยคำสั่งนี้เราจะต้องเสียค่า CP 1 จะได้จั่ว 2 ใบเข้ามือ แล้วเลือกทิ้งการ์ดจากมือหนึ่งใบ โดยการ์ดที่ถูกเลือกจะกลายไปเป็น Energy ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอีกชนิดที่ใช้เรียกยูนิตหรือร่ายอีเว้นท์ ในเกมส์นี้ผู้เล่นจะไม่สามารถจั่วการ์ดได้แบบเกมส์ทั่วไป แต่จะสามารถเพิ่มการ์ดบนมือได้ด้วยคำสั่ง Reinforce หรือ ความสามารถพิเศษจากการ์ดต่างๆ เท่านั้น

2. Defending Phase จะเป็นช่วงที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะได้เล่นการ์ดประเภท Defensive Event หรือใช้ความสามารถพิเศษของยูนิตที่สามารถใช้ได้ในช่วงนี้ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามจะต้องคาดการณ์สิ่งที่เราจะทำในเฟสถัดไป และ พยายามลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

3. Combat Phase ในเฟสนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการต่อสู้หลังจากวางแผนในเฟสแรก ซึ่งในช่วงนี้เราสามารถสั่งการให้ยูนิตโจมตีไปในทิศทางที่สามารถโจมตีได้ โดยกฏการโจมตีของเกมส์นี้จะเป็นการตีแบบทางเดียวคือผู้โจมตีจะไม่โดนสวนเดเมจกลับมา และ เดเมจที่เราทำจะไม่สะสมไปจนเทิร์นถัดไป แต่จะถูกล้างเมื่อจบเทิร์นดังนั้นจะโจมตีตัวละครตัวไหนก็ต้องรวบรวมเดเมจให้เท่ากับหรือมากกว่าค่าพลังชีวิตของเป้าหมาย สำหรับยูนิตที่ถูกโจมตีจนพลังชีวิตหมดจะถูกย้ายไปยัง Defeated Zone โดยยูนิตที่อยู่ใน Defeated Zone จะสามารถกดรับเพื่อเปลี่ยนเป็นค่า 1 CP ได้หนึ่งครั้งต่อใบอีกด้วย

4. End Phase ช่วงสุดท้ายของเทิร์นก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่เทิร์นของฝ่ายตรงข้าม ในเฟสนี้เราจะต้องเช็คการ์ดในมือตัวเองว่ามีเกิน 7 ใบหรือไม่ หากเกินจะต้องทิ้งการ์ดให้เหลือบนมือเพียง 7 ใบเท่านั้น จากนั้นจะทำการรีเซ็ตค่า CP ให้เหลือ 0 นอกจากนั้นจะมีการเช็คด้วยว่าฝ่ายเรามียูนิตเหลือในสนามหรือไม่ หากไม่เหลือจะถือว่าเราเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในทันที

 

ในเรื่องของการได้รับการ์ดนั้นผู้เล่นจะได้การ์ดจากการเปิดซอง การ์ดที่เราได้รับมาแต่ไม่ใช้จะสามารถนำไปขายคืนระบบได้ซึ่งราคาจะเป็นไปตามระดับความหายากของการ์ดใบนั้น นอกจากนั้นเราสามารถเลือกซื้อการ์ดที่ต้องการได้จากร้านค้าอีกด้วย ใครไม่มีดวงก็สามารถเปิดการ์ดมาขายเพื่อเก็บเงินซื้อการ์ดที่ตัวเองต้องการได้เลย

 

หลังจากที่ได้ทดลองเล่นอยู่หลายเกมส์บอกได้เลยว่าระบบการเล่นของ Commandeer Armament ค่อนข้างมีความซับซ้อนพอสมควร อาจจะทำให้เราต้องใช้เวลาเรียนรู้การเล่นหลายตาซักนิดกว่าจะเริ่มเข้าถึง แต่พอเข้าใจระบบการเล่นได้ดีพอสมควรแล้วคุณจะเล่นเกมส์นี้ได้อย่างสนุกถึงใจ ด้วยรูปแบบการวางแผนที่สามารถทำได้หลากหลาย การต้องจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเหมาะสมกับสถานะการณ์ในตอนนั้น นับเป็นความท้าทายที่คุณต้องลองจริงๆ ใครสนใจเข้าไปติดตามให้กำลังใจนักพัฒนาสายเลือดไทยกันได้ที่ www.facebook.com/CMDArmament/ สามารถโหลดเกมส์ได้ที่ www.commandeertcg.com/armament-download

 

 

ข่าว เกมออนไลน์ใหม่ By Game-Ded

Comment